วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2557

1.ประวัติการก่อสร้างเขื่อนแก่งกระจาน


ภายหลังที่เขื่อนเพชรเสร็จไปแล้ว  8  ปี คือ ในปี พ.ศ. 2501  การใช้น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี ได้ทวีจำนวนขึ้นสูงมาก โครงการนี้ต้องรับใช้ราษฎร ทั้งการส่งน้ำเพื่อการกสิกรรมและการส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค เป็นการเลยจุดประสงค์ของการวางโครงการไว้เบื้องต้นแล้ว  ดังเช่น
                        ที่ตำบลหัวหิน ต้องส่งน้ำให้เทศบาลเพื่อการประปา นอกเหนือไปจากการส่งน้ำให้ราษฎรเพื่อการบริโภคและให้รถไฟใช้อันเป็นจุดประสงค์เดิม คลองส่งน้ำสายหัวหินจากกิโลเมตรที่ 20 มาถึงกิโลเมตรที่ 41  ได้คำนวณไว้สำหรับส่งน้ำเพื่อการบริโภคเท่านั้น บัดนี้ราษฎรที่มีพื้นที่ดินตามคลองต่างก็ขอใช้น้ำเพื่อการกสิกรรมด้วย
                        ที่นิคมสร้างตนเองเขื่อนเพชร ต้องขุดคลองซอยออกจากคลองซอย 2 ขวา ของคลองส่งน้ำสายใหญ่1  เพื่อส่งน้ำไปช่วยการกสิกรรมในพื้นที่ของนิคม
                        อนึ่ง ในระยะนี้ปรากฏว่า พื้นที่นาสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ในเขตอำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง ซึ่งอยู่นอกเขตโครงการลงไปจนถึงอำเภอบ้านแหลม ขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในการกสิกรรม ราษฎรได้พยายามช่วยตัวเองด้วยการสูบน้ำ และปิดทำนบชั่วคราวกั้นแม่น้ำเพชรบุรี ในท้องที่อำเภอบ้านแหลม เพื่อทดน้ำขึ้นไว้ใช้ในการกสิกรรมตอนต้นฤดู ทำนบนี้ต้องทำกันทุกปี บางปีทำกันหลายครั้ง เพราะถูกน้ำพัดเสียหายไปก่อนหมดความต้องการ จนถึงขอร้องให้กรมชลประทานจัดสร้างเขื่อนทดน้ำถาวรขึ้นแทน แต่การสร้างเขื่อนดังกล่าวนี้เป็นวิธีที่ผิดหลักการและได้ผลไม่คุ้มค่า จึงจำเป็นต้องแก้ไขโดยขยายเขตการส่งน้ำของโครงการที่ได้วางไว้เดิมลงไปช่วยเหลือ ฉะนั้น ถ้าได้โครงการแก่งกระจานขึ้นเพื่อเก็บน้ำที่เหลือใช้ในฤดูฝนไว้แล้ว ปัญหาการขาดแคลนน้ำก็จะหมดไป และยังจะเป็นการช่วยเหลือราษฎร์ให้ได้ทำการเพาะปลูกพืชไร่ในฤดูแล้งด้วย และประกอบกับราษฎรได้เห็นผลจากการทำนาในเขตการชลประทานได้รับผลคุ้มค่าและมีรายได้เพิ่มขึ้นก็ยิ่งมีความสนใจที่จะให้ทำการชลประทานเพิ่มขึ้น
                        ด้วยเหตุนี้กรมชลประทานจึงได้เริ่มทำการสำรวจและวางผังระบบการชลประทาน กับวางโครงการแก่งกระจานนี้ขึ้นในปี พ.ศ. 2501 และหลังจากที่ได้ทำการสำรวจแล้วก็ได้เสนอโครงการนี้ไปยังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อขอความเห็นชอบและขออนุมัติจากรัฐบาล ซึ่งก็ได้รับอนุมัติและจัดโครงการแก่งกระจาน เป็นโครงการในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา
                        งานในโครงการระยะนี้ประกอบด้วยการก่อสร้างเขื่อนแก่งกระจาน
                        เขื่อนแก่งกระจานสร้างกั้นแม่น้ำเพชรบุรี ที่ตำบลสองพี่น้อง  อำเภอท่ายาง ( ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลแก่งกระจาน  อำเภอแก่งกระจาน)  บริเวณเขาเจ้าและเขาไม้รวกประชิดเข้าหากัน มีเนื้อที่ลุ่มน้ำเหนือเขื่อน 2,200  ตารางกิโลเมตร เขื่อนนี้อยู่ทางเหนือน้ำของเขื่อนเพชรขึ้นไป 66  กิโลเมตร ตอนเหนือเขื่อนทั้งสองฝั่งแม่น้ำ มีเขาล้อมรอบจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ เก็บน้ำได้ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ซึ่งเป็นป่าอยู่เดิมเป็นอานาเขต 50 ตารางกิโลเมตร และมีความยาวจากเหนือเขื่อนขึ้นไปตามลำน้ำ 25  กิโลเมตร  ตอนกว้างที่สุด 15  กิโลเมตร
                        ตัวเขื่อนกั้นแม่น้ำเป็นเขื่อนดินสูง 58  เมตร  ความยาวตามสันเขื่อน 760  เมตร  สันเขื่อนกว้าง  8  เมตร ฐานตอนที่กว้างที่สุด  250  เมตร มีท่อส่งน้ำจากเขื่อนเป็นท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก ทางด้านเหนือน้ำเป็นรูปกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.50  เมตร ทางด้านท้ายน้ำเป็นรูปเกือกม้า สูง 5.25  เมตร มีประตูปิดเปิดให้น้ำไหลผ่านได้ตามที่ต้องการจนถึง 75 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
                        นอกจากตัวเขื่อนกั้นแม่น้ำแล้ว มีเขื่อนดินปิดช่องเขาขาดอีก  2  แห่ง คือ
                                                แห่งที่ 1 สูง  36  เมตร  ความยาวตามสันเขื่อน  305  เมตร สันเขื่อนกว้าง  8  เมตร ฐานตอนที่กว้างที่สุด  160  เมตร
                                                แห่งที่ 2 สูง  24  เมตร  ความยาวตามสันเขื่อน  255  เมตร สันเขื่อนกว้าง  8  เมตร ฐานตอนที่กว้างที่สุด  100  เมตร
                        เพื่อความปลอดภัยของตัวเขื่อนไม่ให้น้ำล้นข้ามได้ จึงต้องมีทางระบายน้ำล้น สันทางระบายยาว  110  เมตร ซึ่งสามารถระบายน้ำที่เกินความต้องการได้  1,380   ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

การดำเนินงานก่อสร้างเขื่อนแก่งกระจาน

                        งานก่อสร้างเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งได้สำเร็จลุล่วงมาด้วยดี เป็นงานที่กรมชลประทานดำเนินการสำรวจทางด้านต่างๆ เองโดยตลอด นอกเหนือจากการทำแผนที่บริเวณอ่างเก็บน้ำทั้งทางอากาศและทางพื้นดิน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมแผนที่ทหาร ส่วนงานออกแบบเป็นงานที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมชลประทาน กับบริษัทที่ปรึกษาทางวิศวกรรม คือบริษัท Engineering Consultants Inc. เมือง Denver    ในมลรัฐ  Colorado  ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกรมชลประทานจ้างมาเป็นบริษัทที่ปรึกษา ตามเงื่อนไขแห่งการกู้เงินจากธนาคารโลก
                        การดำเนินงานร่วมกันนี้ บริษัทที่ปรึกษาจะส่งเจ้าหน้าที่ของบริษัทส่วนหนึ่งเข้ามาร่วมทำงานออกแบบกับกรมชลประทานที่กรุงเทพฯ และออกไปให้คำแนะนำในการปฏิบัติงานในสนาม ซึ่งกรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างเอง โดยวิธีนี้จะทำให้ข้าราชการของกรมชลประทานเกิดความชำนาญในการปฏิบัติงานยิ่งขึ้น
                        สำหรับงานก่อสร้างได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2504  ซึ่งเป็นปีแรกที่ได้รับงบประมาณค่าก่อสร้าง เป็นลำดับมาดังนี้

งานก่อสร้างขั้นเตรียมการเบื้องต้น
                        ได้เริ่มสร้างถนนจากเขื่อนเพชร  เข้าที่ตั้งเขื่อนแก่งกระจาน ในต้นปี 2504 เป็นถนนดินลุกรังกว้าง  10  เมตร  ยาว  27  กิโลเมตร   งานก่อสร้างถนนพร้อมทั้งสะพานและท่อลอดถนนได้แล้วเสร็จภายใน 10 เดือน
                        ส่วนงานถางป่าบริเวณที่ตั้งเขื่อน ได้เริ่มในกลางปี  2504  บริเวณนี้เป็นป่าทึบชุกชุมด้วยไข้ป่า มีสัตว์ป่าชนิดต่างๆ เช่น เสือกวาง เก้ง ลิง ชะนี ตลอดจนนกและไก่ป่าเป็นจำนวนมาก เมื่อกรมชลประทานได้เข้าไปทำงาน สัตว์เหล่านี้ก็ได้หลบหนีเข้าไปอาศัยในป่าลึกทางเหนือน้ำขึ้นไป การถางป่านี้ได้ทำทั้งด้วยแรงคนและรถแทรกเตอร์ และงานส่วนใหญ่ได้เสร็จในกลางปี 2505                   
                        เมื่อได้ถางป่าเสร็จไปเป็นบางส่วน ก็เริ่มสร้างบ้านพักที่ทำการ โรงงาน โรงพยาบาล  โรงไฟฟ้า  น้ำประปา  ตลอดจนถนนในบริเวณงานก่อสร้างและงานถางป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำเป็นงานในลำดับต่อมา



ที่มา: จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี

2. งานสร้างเขื่อนแก่งกระจาน
                        งานหลักของเขื่อนแก่งกระจาน แบ่งออกไปเป็น 5 งาน คือ
                                                1. เขื่อนใหญ่กั้นแม่น้ำ
                                                2. เขื่อนปิดช่องเขาขาดแห่งที่ 1
                                                3. เขื่อนปิดช่องเขาขาดแห่งที่ 2
                                          4. ท่อส่งน้ำจากเขื่อนใหญ่
                                                5. ทางระบายน้ำล้น
                        งานก่อสร้างได้เริ่มตามลำดับมาดังนี้
2.1. ท่อส่งน้ำจากเขื่อนใหญ่  ( Outlet  Works )
            ท่อส่งน้ำจากเขื่อนใหญ่เป็นท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก ฝังขวางใต้เขื่อนใหญ่ ตัวท่อทางด้านเหนือน้ำเป็นรูปกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.50  เมตร  ทางด้านท้ายน้ำเป็นรูปเกือกม้าสูง 5.25  เมตร  ความยาวท่อ  202  เมตร  มีหอรับน้ำทางด้านเหนือน้ำ (Intake Tower) มีห้องติดบานระบาย (Gate Chamber ) อยู่ตอนกลางท่อในแนวสันเขื่อน บานระบายในตัวท่อซึ่งมี 2 ช่อง ๆ ละ 2 ชุด เป็นบานระบายขนาดใหญ่ ซึ่งรับแรงดันได้สูง (High Pressure Gate) ขนาด 1.80 x 2.60  เมตร ช่องละ 1 บาน และบานระบายเล็กทำหน้าที่ควบคุมการส่งน้ำ ( Regulating Gate ) ขนาด 1.60 x 1.75  เมตร อีกช่องละ 1 บาน ทางด้านท้ายน้ำมีหอบังคับการ (Control  House) สำหรับปิดเปิดบานระบาย
                        ได้เริ่มเปิดหน้าดินและระเบิดหินร่องสำหรับสร้างตัวท่อเมื่อเดือนเมษายน  2505 แล้วทำการอัดแดน้ำปูนเพื่อป้องกันการรั่วซึมใต้ฐานราก จนถึงเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน จึงได้เริ่มเทคอนกรีตตัวท่อและเทคอนกรีตตัวหอรับน้ำทางด้านเหนือน้ำ ห้องติดตั้งบานระบาย หอบังคับการด้านท้ายน้ำต่อเป็นลำดับมา งานคอนกรีตของท่อส่งน้ำได้เสร็จในปลายปี 2056 เป็นคอนกรีตทั้งสิ้น 8,200  ลูกบาศก์เมตร
                        ส่วนการติดตั้งบานระบายภายในตัวท่อนั้น ได้เริ่มในเดือนกันยายน 2507 และเสร็จในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน

                        ในระยะนี้ได้ผันน้ำจากตัวแม่น้ำเดิม ให้ไหลผ่านทางท่อส่งน้ำนี้ตลอดมา โดยให้ผ่านช่องใต้คอห่านของหอรับน้ำ ( Diversion  Openning ) จนถึงเดือนเมษายน 2508  จึงได้ทำการอุดช่องใต้คอห่านนี้ แล้วทำการเก็บน้ำในอ่างตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา เป็นการเก็บกักน้ำก่อนกำหนดที่กะไว้เดิม 1 ปี

2.2 เขื่อนใหญ่  ( Main   Dam )
            เขื่อนใหญ่กั้นแม่น้ำเป็นเขื่อนดิน มีแกนเป็นดินเหนียว ตัวเขื่อนออกจากแกนแบ่งการถมเป็นเขต ( Zone ) ต่างๆ โดยใช้ดินและหิน ตลอดจนกรวดทรายแตกต่างกันออกไปตามเขต
                        ขนาดและระดับของเขื่อนมีดังนี้
                                                เขื่อนสูง                                                                           58                  เมตร
                                                ความยาวตามสันเขื่อน                                  760                  เมตร
                                                สันเขื่อนกว้าง                                                               8                  เมตร
                                                ฐานตอนกว้างที่สุด                                           250                  เมตร
                                                ระดับสันเขื่อน                                          + 106                        เมตร ( ร.ท.ก. )                                    
                                                ระดับน้ำเก็บกัก                                        +    99                        เมตร ( ร.ท.ก. )
                                                ระดับกั้นแม่น้ำเดิม                               +     55                        เมตร ( ร.ท.ก. )
                        การสร้างเขื่อนได้ทำส่วนที่อยู่บนตลิ่งทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำก่อน โดยได้เริ่มถางป่าและเปิดหน้าดินบริเวณฐานของเขื่อนตั้งแต่ต้นปี 2505 มาจนถึงเดือนตุลาคม ในปีนั้นจึงได้เริ่มเจาะร่องแกนดินเหนียวอัดฉีดน้ำปูนเพื่อป้องกันการรั่วซึมใต้ฐานรากและเริ่มถมดินตัวเขื่อน การถมดินในระยะนี้ได้ใช้เครื่องจักรเครื่องมือที่ใช้งานมานานปี ซึ่งกรมชลประทานมีอยู่ทำงานไปพลางก่อน จนถึงเดือนมกราคม  2507  จึงได้รับเครื่องจักรเครื่องมือที่ซ้อด้วยเงินกู้จากธนาคารโลกทยอยกันเข้ามา การถมดินจึงทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น และในเดือนพฤศจิกายนปีนั้นได้ปิดทำนบชั่วคราวกั้นแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อทำงานฐานรากตัวเขื่อนทางฝั่งขวา คือตอนที่อยู่ในแม่น้ำและได้ถมดินขึ้นมาจนเชื่อมติดต่อกับตัวเขื่อนทางฝั่งซ้าย มาจนถึงเดือนเมษายน 2508  ได้ถมดินตัวเขื่อนถึงระดับ + 82  เมตร ( ร.ท.ก. ) หรือสูงจากฐานเขื่อนตอนที่ลึกที่สุดขึ้นมาได้  34  เมตร จึงได้เริ่มทำการเก็บกักน้ำในอ่างดังได้กล่าวมาแล้วในงานสร้างท่อส่งน้ำ  การถมดินได้ทำต่อมาจนถึงระดับสันเขื่อนเป็นอันเสร็จเรียบร้อยในเดือนธันวาคม 2508  รวมระยะเวลาถมดินตัวเขื่อน 3 ปี กับ 3 เดือน เป็นปริมาตรดินและวัสดุต่างๆ ที่ใช้สร้างเขื่อน  3,425,000  ลูกบาศก์เมตร


2.3. ทางระบายน้ำล้น (Spillway )
            อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำ ระหว่างตัวเขื่อนปิดช่องเขาขาดแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2  สันทางระบายน้ำอยู่ที่ระดับ + 99  เมตร   ( ร.ท.ก. ) มีความยาว 110  เมตร  ทางระบายน้ำนี้ มีตอนที่ต้องตัดผ่านช่องเขายาวประมาณ 205  เมตร และมีส่วนที่ต้องตัดลึกที่สุด 43  เมตร
                      งานถางป่าบริเวณทางระบายน้ำได้เริ่มในเดือนกรกฎาคม 2505 และได้เริ่มระเบิดหินในเดือนกันยายน 2505 โดยระเบิดจากตอนบนลงมาหาระดับที่ต้องการ เป็นจำนวนหินที่ระเบิด 511,000 ลูกบาศก์เมตร หินจำนวนนี้ได้นำไปถมตัวเขื่อนในเขต ( Zone ) ที่กำหนดไว้ และถมลาดของตัวเขื่อนให้มั่นคงแข็งแรงไม่ทะลายเมื่อถูกกระแสน้ำและน้ำฝนกัดเซาะที่สันทางระบายน้ำได้เทคอนกรีตกว้าง  8  เมตร  ตลอดความยาวของสันเขื่อนและลาดตลิ่งในแนวสันทางระบายน้ำ ทั้งสองข้างเป็นคอนกรีต  420  ลูกบาศก์เมตร  นอกจากนี้ยังได้ถมคันดินฝั่งซ้ายของร่องระบายตอนท้ายน้ำมาจดตัวแม่น้ำเดิมอีก  180,000  ลูกบาศก์เมตร  ทางระบายน้ำล้นนี้ได้เสร็จเรียบร้อยในเดือนเมษายน 2509


2.4 เขื่อนปิดช่องเขาขาดแห่งที่ 1 ( Dike No. 1 )
                        อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำห่างจากเขื่อนใหญ่ออกไป 170  เมตร  เป็นเขื่อนดินแบบเดียวกับเขื่อนใหญ่
                                                เขื่อนนี้สูง                                                                                              36                  เมตร
                                                ความยาวตามสันเขื่อน                                                          305                  เมตร
                                                สันเขื่อนกว้าง                                                                                     8                    เมตร
                                                ฐานตอนที่กว้างที่สุด                                                            160                    เมตร
                                                ระดับสันเขื่อนเท่ากับเขื่อนใหญ่ คือ            +    106                     เมตร ( ร.ท.ก. )
                        งานได้เริ่มในปี 2506  โดยเริ่มถางป่าและเปิดหน้าดินบริเวณฐานเขื่อนในเดือนมกราคม เริ่มเจาะร่องแกนดินเหนียวในเดือนกรกฎาคม เริ่มอัดฉีดน้ำปูนฐานราก และเริ่มถมดินในเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้น การถมดินได้ถมสลับกับเขื่อนใหญ่ แต่เนื่องจากต้องนำเครื่องจักรเครื่องมือไปเร่งงานเขื่อนใหญ่ การถมดินเขื่อนนี้จึงมาเสร็จในเดือนมกราคม 2509 หลังเขื่อนใหญ่ไป 1 เดือน รวมระยะเวลาการถมดินตัวเขื่อน 2 ปี กับ 6 เดือน เป็นปริมาตรดินและวัสดุต่างๆ  704,000  ลูกบาศก์เมตร  

2.5 เขื่อนปิดช่องเขาขาดแห่งที่ 2  ( Dike No. 2 )
            อยู่ทางฝั่งขวาสุดของแม่น้ำ ห่างจากทางระบายน้ำออกไป 400  เมตร เป็นเขื่อนดินแบบเดียวกับเขื่อนใหญ่ปิดช่องเขาขาดแห่งที่ 1
                                                เขื่อนนี้สูง                                                                                24               เมตร
                                                ความยาวตามสันเขื่อน                                             225               เมตร
                                                สันเขื่อนกว้าง                                                                          8                เมตร
                                                ฐานตอนที่กว้างที่สุด                                                  100               เมตร
                                                ระดับสันเขื่อนเท่ากับเขื่อนใหญ่ คือ     + 103               เมตร ( ร.ท.ก. )
                        การที่กำหนดระดับสันเขื่อนไว้เพียงนี้ ก็เพื่อให้น้ำหลากที่มีมากกว่า 1,380  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพียงชั่วครั้งคราว ได้ไหลข้ามไปได้ เป็นการช่วยทางระบายน้ำล้นระบายน้ำอีกทางหนึ่ง มิฉะนั้น สันทางระบายน้ำล้นจะต้องยาวมาก และความกว้างของช่องระบายน้ำล้นนั้น ก็จะต้องกว้างมากขึ้น ทั้งนี้ เป็นการประหยัดราคางานลง
งานถางป่าและเปิดหน้าดินบริเวณฐานเขื่อน ได้เริ่มในต้นปี 2508 งานเจาะร่องแกนดินเหนียว เริ่มในเดือนกันยายน 2508 และได้เริ่มถมดินตัวเขื่อนในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน การถมดินเขื่อนนี้ใช้เวลาเพียง  3  เดือนเท่านั้น คือถมเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์  2509  เป็นปริมาตรดินและวัสดุต่างๆ   188,000  ลูกบาศก์เมตร


ที่มา: จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี
3. งานถางป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำ
                         การสร้างเขื่อนเก็บน้ำ จะทำให้พื้นที่ตอนเหนือเขื่อนเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ดังนั้น การถางป่าในบริเวณที่ถูกน้ำท่วม จึงเป็นปัญหาที่สำคัญประการหนึ่ง กล่าวคือ ก่อนที่จะเก็บน้ำจะต้องทำการถางป่า และนำเอาไม้ออกจากบริเวณอ่างให้หมดสิ้นเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วการเน่าของกิ่งไม้ใบไม้ ฯลฯ จะทำให้น้ำในอ่างเสีย เป็นอันตรายแก่การเพาะปลูกตลอดจนการอุปโภคบริโภค นอกจากนี้อาจมีต้นไม้ กิ่งไม้ หลุดลอยมาขางทางเดินของน้ำ หรือท่อสำหรับส่งน้ำ ทำให้เกิดการเสียหายแก่อาคารชลประทานได้

                        การถางป่าในบริเวณอ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีพื้นที่ 50 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 31,000  ไร่นี้ กรมชลประทานได้ทำความตกลงกับกรมป่าไม้ ซึ่งองค์การฯ ได้ทำสัญญาจ้างผู้รับเหมาทำการตัดโค่นถางป่า ทั้งนี้ องค์การฯ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยได้ไม้ที่ทำการตัดโค่นเป็นขององค์การฯ เพื่อนำมาเป็นสินค้าขายในท้องตลาดต่อไป การทำสัญญาถางป่ากระทำเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2506 แต่ปรากฏว่าผู้รับเหมาทำงานได้ล่าช้า อาจไม่เสร็จทันความต้องการของกรมชลประทาน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จึงได้เปลี่ยนผู้รับเหมาใหม่ เมื่อเดือนธันวาคม 2506 ซึ่งผู้รับเหมารายใหม่นี้ได้เร่งดำเนินงานจนเสร็จทันตามความต้องการ 

ที่มา: จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี

4. การอพยพราษฎรในบริเวณที่ถูกน้ำท่วม
                        การอพยพราษฎรออกจากบริเวณที่ถูกน้ำท่วม ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนแก่งกระจาน ไม่มีปัญหามากนัก เนื่องจากมีชาวกระเหรี่ยงอาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณตอนกลางของอ่างเพียง 4 หมู่บ้าน คือ บ้านวังวน  ท่าลิงลม  แก่งมะค่า  และแก่งกระจาน  รวมทั้งหมด 32  ครอบครัว เป็นจำนวน 138  คนเท่านั้น  ชาวกระเหรี่ยงนี้มีภาษาพูดของตนเองแต่พูดภาษาไทยได้ มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ รักสงบและรักสันโดษ ปลูกข้าวและพืชล้มลุกเพียงพอเลี้ยงชีพไปปีหนึ่งๆ นอกจากนี้ก็มีการหาของป่าและล่าสัตว์บ้าง ส่วนบริเวณอ่างทางเหนือน้ำมีชาวกระเหรี่ยงอาศัยอยู่ตามริมห้วยเพียงไม่กี่หลังคาเรือน
                        เนื่องจากราษฎรดังกล่าวมาแล้วไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน กรมชลประทานจึงได้พิจารณาจ่ายค่ารื้อถอนบ้านเรือนและค่าต้นผลไม้ทุกครัวเรือนแต่อย่างเดียวโดยความเป็นธรรม ต่อมาภายหลังปรากฏว่ามีคนไทยจากท้องที่ต่างๆ ในจังหวัดเพชรบุรี พากันเข้าไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณตัวอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น กรมชลประทานจึงได้ร่วมกับทางราชการจังหวัดเพชรบุรี จึงได้ประชุมราษฎรเหล่านี้แจ้งให้ทราบว่า พื้นที่บริเวณนี้อยู่ในเขตที่น้ำจะท่วม จึงขอให้ผู้ที่อพยพมาใหม่กลับไปยังถิ่นฐานเดิมหรือแหล่งอื่นเสีย ส่วนชาวกระเหรี่ยงซึ่งมาอยู่แต่เดิมนั้น ได้ให้อพยพไปอยู่ทางขอบอ่างทางทิศใต้ บริเวณห้วยเต่าคำและห้วยตากราย ซึ่งมีความชุ่มชื้นเหมาะกับการเพาะปลูกพืชไร่และปลูกข้าวเล็กๆน้อยๆ เหมาะกับอัธยาศัยของชาวกระเหรี่ยง ซึ่งมีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ จึงไม่เกิดความเดือดร้อนแต่ประการใด นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้ทำถนนลำลองจากเขื่อนแก่งกระจานไปตามขอบอ่าง จนถึงหมู่บ้านใหม่ของชาวกระเหรี่ยง เพื่อให้มีโอกาสออกมาภายนอกได้โดยสะดวกอีกด้วย

                        สำหรับชาวกระหร่าง ซึ่งมีอยู่ไม่กี่หลังคาเรือนนั้น ไม่ชอบสังคมกับบุคคลภายนอก เมื่อกรมชลประทานเริ่มเก็บน้ำในอ่าง ชาวกระหร่างซึ่งอยู่บริเวณอ่างทางเหนือน้ำนั้นจึงอพยพเข้าไปอยู่ทางต้นน้ำใกล้ชายแดนไทย พม่า ไม่ต้องจัดที่ทำมาหากินให้ เช่นชาวกระเหรี่ยง


ที่มา: จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี
5. ค่าลงทุน

                        ค่าลงทุนในการสร้างเขื่อนแก่งกระจาน ตามที่ได้กล่าวมาในตอนต้น เป็นเงินงบประมาณ 120,336,000  บาท และเงินกู้จากธนาคารโลก 40,048,000  บาท ( หรือ 2,002,400  เหรียญอเมริกัน ) รวม 160,384,000  บาท นั้น แยกเป็นรายการใหญ่ๆ ได้ดังนี้
                        เงินงบประมาณ
                                                1.ค่าเตรียมงานเบื้องต้น มีงานสร้างถนนเข้าเขื่อน ถางป่าบริเวณเขื่อน สร้างที่ทำ                                                 การ โรงงาน บ้านพัก ฯลฯ                                                                                                                                  11,245,000                     บาท
                                                2. งานบริหารโครงการ                                                                                         17,123,000                     บาท
                                                3. ค่าสร้างเขื่อนใหญ่กั้นแม่น้ำและปิดช่องเขาขาด                           59,469,000                     บาท
                                                4. ค่าสร้างท่อส่งน้ำ                                                                                                 13,464,000                     บาท
                                                5. ค่าสร้างทางระบายน้ำล้น                                                                              19,035,000                     บาท
                                                                                                                                                รวม                                  120,336,000                   บาท
                        เงินกู้จากธนาคารโลก
                                                1. ค่าเครื่องจักรเครื่องมือ                                                                                   23,100,000                     บาท
                                                2. ค่าเครื่องอะไหล่                                                                                                10,178,000                     บาท
                                                3. ค่าวัสดุที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ                                                                 1,470,000                      บาท
                          4. ค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ                                                                                                              5,300,000                        บาท
                                                                                                                           รวม                                                              40,048,000                      บาท
                                                                                                                          รวมทั้งหมด                                 160,384,000                      บาท

เครื่องจักรเครื่องมือที่ซื้อด้วยเงินกู้จากธนาคารโลก

1. 200 KW. Diesel generating Set “  NIIGATA” , 1  Set
2. Motor Grader Le Tourneau – Westinghouse Adams Model 440 , 2 Units
3. Atlas Copco  Wagon Drill  BVA – 14 complete, 4  Sets
4. Field  Soils  Laboratory ,  61 Items
5. Lima Type 803  2 1/2   cu.yd. Crawler Excavator
                        1)  Crawler shovel , 2 Units
                        2) Dragline attachment ,  1 Set
6. Air Compressor Holman  “ Rotair ” 600 D ,  4 Units
7. Motor  Scraper  619 C
                        1)  a. cat. 619 C Whell Tractor Series C, 5 Units
     b. cat. 619 C Whell Tractor Series C, 2 Units      
                        2)  a. Scraper Body Cat.  619 C capacity 14 cu’yds. Truck, 5  Units
               b. Scraper Body Cat.  619 C capacity 14 cu’yds. Truck, 2  Units
8. 50 ton  Rubber Tired  Rollers,  2  Units
9. Power Auger Mounted  on Dodge W/30 (  4 x 4)  ,  1 Set
10. Sprinkler system  and Pumping for sprinkler system
                        1) Sprinkler  system ,  1 Set
                        2) Pumping unit, Berkler Model B4 EYQ BH,  1 Unit
11. Payhauler  ( PH.65 ) ,  8  Units
12. Payloader ( Hough ) , 1  Unit
13. TD 25  ( Series B. )
                        1)  a. Intrernational  Harvester Power Shift , Crawler Tractor TD 25 B ,  3  Units
                             b. Intrernational  Harvester Power Shift , Crawler Tractor TD 25 B ,  3  Units
                        2)  a. Model 25 D – 2 Bulldozer Pusher Block Model GR 2526 TH Model  25 Rock   Ripper ,  3  Units
                             b. Model 25 D – 2 Bulldozer Pusher Block Model GR 2526 TH Model  25 Rock    Ripper ,  1  Unit
                        3)  a. Model  GR 526  Rock Ripper ,  2  Units
                             b. Model  GR 526  Rock Ripper ,  1  Unit

ที่มา: จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี