1.ประวัติการก่อสร้างเขื่อนแก่งกระจาน
ภายหลังที่เขื่อนเพชรเสร็จไปแล้ว 8 ปี
คือ ในปี พ.ศ. 2501
การใช้น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี ได้ทวีจำนวนขึ้นสูงมาก
โครงการนี้ต้องรับใช้ราษฎร ทั้งการส่งน้ำเพื่อการกสิกรรมและการส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค
เป็นการเลยจุดประสงค์ของการวางโครงการไว้เบื้องต้นแล้ว ดังเช่น
ที่ตำบลหัวหิน
ต้องส่งน้ำให้เทศบาลเพื่อการประปา
นอกเหนือไปจากการส่งน้ำให้ราษฎรเพื่อการบริโภคและให้รถไฟใช้อันเป็นจุดประสงค์เดิม
คลองส่งน้ำสายหัวหินจากกิโลเมตรที่ 20 มาถึงกิโลเมตรที่ 41 ได้คำนวณไว้สำหรับส่งน้ำเพื่อการบริโภคเท่านั้น
บัดนี้ราษฎรที่มีพื้นที่ดินตามคลองต่างก็ขอใช้น้ำเพื่อการกสิกรรมด้วย
ที่นิคมสร้างตนเองเขื่อนเพชร
ต้องขุดคลองซอยออกจากคลองซอย 2 ขวา ของคลองส่งน้ำสายใหญ่1 เพื่อส่งน้ำไปช่วยการกสิกรรมในพื้นที่ของนิคม
อนึ่ง
ในระยะนี้ปรากฏว่า พื้นที่นาสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ในเขตอำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง
ซึ่งอยู่นอกเขตโครงการลงไปจนถึงอำเภอบ้านแหลม ขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในการกสิกรรม
ราษฎรได้พยายามช่วยตัวเองด้วยการสูบน้ำ และปิดทำนบชั่วคราวกั้นแม่น้ำเพชรบุรี
ในท้องที่อำเภอบ้านแหลม เพื่อทดน้ำขึ้นไว้ใช้ในการกสิกรรมตอนต้นฤดู
ทำนบนี้ต้องทำกันทุกปี บางปีทำกันหลายครั้ง
เพราะถูกน้ำพัดเสียหายไปก่อนหมดความต้องการ
จนถึงขอร้องให้กรมชลประทานจัดสร้างเขื่อนทดน้ำถาวรขึ้นแทน
แต่การสร้างเขื่อนดังกล่าวนี้เป็นวิธีที่ผิดหลักการและได้ผลไม่คุ้มค่า
จึงจำเป็นต้องแก้ไขโดยขยายเขตการส่งน้ำของโครงการที่ได้วางไว้เดิมลงไปช่วยเหลือ
ฉะนั้น ถ้าได้โครงการแก่งกระจานขึ้นเพื่อเก็บน้ำที่เหลือใช้ในฤดูฝนไว้แล้ว
ปัญหาการขาดแคลนน้ำก็จะหมดไป
และยังจะเป็นการช่วยเหลือราษฎร์ให้ได้ทำการเพาะปลูกพืชไร่ในฤดูแล้งด้วย
และประกอบกับราษฎรได้เห็นผลจากการทำนาในเขตการชลประทานได้รับผลคุ้มค่าและมีรายได้เพิ่มขึ้นก็ยิ่งมีความสนใจที่จะให้ทำการชลประทานเพิ่มขึ้น
ด้วยเหตุนี้กรมชลประทานจึงได้เริ่มทำการสำรวจและวางผังระบบการชลประทาน
กับวางโครงการแก่งกระจานนี้ขึ้นในปี พ.ศ. 2501
และหลังจากที่ได้ทำการสำรวจแล้วก็ได้เสนอโครงการนี้ไปยังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ
เพื่อขอความเห็นชอบและขออนุมัติจากรัฐบาล
ซึ่งก็ได้รับอนุมัติและจัดโครงการแก่งกระจาน
เป็นโครงการในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.
2504 เป็นต้นมา
งานในโครงการระยะนี้ประกอบด้วยการก่อสร้างเขื่อนแก่งกระจาน
เขื่อนแก่งกระจานสร้างกั้นแม่น้ำเพชรบุรี
ที่ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง (
ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลแก่งกระจาน
อำเภอแก่งกระจาน)
บริเวณเขาเจ้าและเขาไม้รวกประชิดเข้าหากัน มีเนื้อที่ลุ่มน้ำเหนือเขื่อน
2,200 ตารางกิโลเมตร เขื่อนนี้อยู่ทางเหนือน้ำของเขื่อนเพชรขึ้นไป
66 กิโลเมตร
ตอนเหนือเขื่อนทั้งสองฝั่งแม่น้ำ มีเขาล้อมรอบจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ เก็บน้ำได้
710 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ซึ่งเป็นป่าอยู่เดิมเป็นอานาเขต 50
ตารางกิโลเมตร และมีความยาวจากเหนือเขื่อนขึ้นไปตามลำน้ำ 25 กิโลเมตร
ตอนกว้างที่สุด 15 กิโลเมตร
ตัวเขื่อนกั้นแม่น้ำเป็นเขื่อนดินสูง
58 เมตร
ความยาวตามสันเขื่อน 760 เมตร สันเขื่อนกว้าง 8 เมตร
ฐานตอนที่กว้างที่สุด 250 เมตร
มีท่อส่งน้ำจากเขื่อนเป็นท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก ทางด้านเหนือน้ำเป็นรูปกลม
เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.50 เมตร
ทางด้านท้ายน้ำเป็นรูปเกือกม้า สูง 5.25
เมตร มีประตูปิดเปิดให้น้ำไหลผ่านได้ตามที่ต้องการจนถึง 75
ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
นอกจากตัวเขื่อนกั้นแม่น้ำแล้ว
มีเขื่อนดินปิดช่องเขาขาดอีก 2 แห่ง คือ
แห่งที่
1 สูง 36
เมตร ความยาวตามสันเขื่อน 305
เมตร สันเขื่อนกว้าง 8 เมตร ฐานตอนที่กว้างที่สุด 160
เมตร
แห่งที่
2 สูง 24
เมตร ความยาวตามสันเขื่อน 255
เมตร สันเขื่อนกว้าง 8 เมตร ฐานตอนที่กว้างที่สุด 100
เมตร
เพื่อความปลอดภัยของตัวเขื่อนไม่ให้น้ำล้นข้ามได้
จึงต้องมีทางระบายน้ำล้น สันทางระบายยาว 110 เมตร
ซึ่งสามารถระบายน้ำที่เกินความต้องการได้
1,380 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
การดำเนินงานก่อสร้างเขื่อนแก่งกระจาน
งานก่อสร้างเขื่อนแก่งกระจาน
ซึ่งได้สำเร็จลุล่วงมาด้วยดี เป็นงานที่กรมชลประทานดำเนินการสำรวจทางด้านต่างๆ
เองโดยตลอด นอกเหนือจากการทำแผนที่บริเวณอ่างเก็บน้ำทั้งทางอากาศและทางพื้นดิน
ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมแผนที่ทหาร
ส่วนงานออกแบบเป็นงานที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมชลประทาน
กับบริษัทที่ปรึกษาทางวิศวกรรม คือบริษัท Engineering Consultants
Inc. เมือง Denver ในมลรัฐ Colorado ประเทศสหรัฐอเมริกา
ซึ่งกรมชลประทานจ้างมาเป็นบริษัทที่ปรึกษา ตามเงื่อนไขแห่งการกู้เงินจากธนาคารโลก
การดำเนินงานร่วมกันนี้
บริษัทที่ปรึกษาจะส่งเจ้าหน้าที่ของบริษัทส่วนหนึ่งเข้ามาร่วมทำงานออกแบบกับกรมชลประทานที่กรุงเทพฯ
และออกไปให้คำแนะนำในการปฏิบัติงานในสนาม ซึ่งกรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างเอง
โดยวิธีนี้จะทำให้ข้าราชการของกรมชลประทานเกิดความชำนาญในการปฏิบัติงานยิ่งขึ้น
สำหรับงานก่อสร้างได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่
พ.ศ. 2504
ซึ่งเป็นปีแรกที่ได้รับงบประมาณค่าก่อสร้าง เป็นลำดับมาดังนี้
งานก่อสร้างขั้นเตรียมการเบื้องต้น
ได้เริ่มสร้างถนนจากเขื่อนเพชร เข้าที่ตั้งเขื่อนแก่งกระจาน ในต้นปี 2504
เป็นถนนดินลุกรังกว้าง 10 เมตร
ยาว 27 กิโลเมตร
งานก่อสร้างถนนพร้อมทั้งสะพานและท่อลอดถนนได้แล้วเสร็จภายใน 10 เดือน
ส่วนงานถางป่าบริเวณที่ตั้งเขื่อน
ได้เริ่มในกลางปี 2504 บริเวณนี้เป็นป่าทึบชุกชุมด้วยไข้ป่า
มีสัตว์ป่าชนิดต่างๆ เช่น เสือกวาง เก้ง ลิง ชะนี ตลอดจนนกและไก่ป่าเป็นจำนวนมาก
เมื่อกรมชลประทานได้เข้าไปทำงาน
สัตว์เหล่านี้ก็ได้หลบหนีเข้าไปอาศัยในป่าลึกทางเหนือน้ำขึ้นไป
การถางป่านี้ได้ทำทั้งด้วยแรงคนและรถแทรกเตอร์ และงานส่วนใหญ่ได้เสร็จในกลางปี
2505
เมื่อได้ถางป่าเสร็จไปเป็นบางส่วน
ก็เริ่มสร้างบ้านพักที่ทำการ โรงงาน โรงพยาบาล
โรงไฟฟ้า น้ำประปา ตลอดจนถนนในบริเวณงานก่อสร้างและงานถางป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำเป็นงานในลำดับต่อมา
ที่มา: จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี